อลังการกับโบราณสถานขอมที่ใหญ่ที่สุดของภาคตะวันออก ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 14 เพื่อใช้ประดิษฐานรูปเคารพและใช้ประกอบพิธีกรรมตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย ทั้งนี้คำว่า “สด๊กก๊อกธม” นั้น หมายถึง “เมืองที่มีต้นกกขึ้นรกในหนองน้ำใหญ่” และในปัจจุบันเค้ารางของความหมาย นี้ก็ยังพอมองเห็นได้จากหนองน้ำใหญ่ที่น่าจะเป็นร่องรอยของอดีตตั้งอยู่ไม่ไกลกันนัก ตัวปราสาทก่อด้วยหินทรายมีโคปุระ หรือซุ้มประตูเหลืออยู่เพียงด้านทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเท่านั้น ภายในระเบียงคตมีบรรณาลัย ก่อด้วยหินทราย 2 หลังอยู่หน้าปราสาทหลังกลางซึ่งเป็นปรางค์ประธาน ส่วนด้านนอกปราสาททางทิศตะวันออก มีสระน้ำขนาดใหญ่รูปสี่เหลี่ยมและมีถนนปูด้วยหินจากตัวปราสาทไปจนถึงสระน้ำ ปราสาทนี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ด้วยความเชื่อที่ว่าทิศตะวันออกเป็นทิศแห่งพลังแสงสว่างและสิริมงคล ส่วนทิศตะวันตกเป็นทิศแห่งความตาย นอกจากนี้ผังปราสาทยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องจักรวาลของศาสนาฮินดู โดยมีเขาพระสุเมรุอยู่กึ่งกลางล้อมด้วยห่วงน้ำมหึมา เมื่อเดินเข้าโคปุระด้านทิศตะวันออกของกำแพงแก้ว ผ่านคูน้ำและระเบียงคดเข้าไป จะเท่ากับเราได้เข้าสู่ใจกลางจักรวาล ซึ่งปรางค์ประธานเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ล้อมรอบด้วยเสาเป็นปริมณฑลบ่งบอกว่าเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์สูงสุด และภายในปรางค์ประธานนั้น เดิมเป็นที่ประดิษฐานศิวลึงค์อันเป็นรูปเคารพแทนองค์ปพระศิวะ หนึ่งในเทพสูงสุดสามองค์ของฮินดู ปัจจุบันเหลือแต่เพียงฐานโยนีเท่านั้น การค้นพบครั้งสำคัญ สิ่งที่ถือว่าเป็นการค้นพบครั้งสำคัญของปราสาทสด๊กก๊อกธม คือการค้นพบศิลาจารึก 2 หลังที่จารึกด้วย อักษรขอมโบราณ ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่บ่งบอกถึงอายุการสร้างปราสาทสด๊กก๊อกธมแห่งนี้ ทั้งยังบอกถึงวัตถุประสงค์ของการสร้างจารึกหลักที่ 2 ด้วยว่าพระเจ้าอุทัยทิตยวรมันที่ 2 ได้ปฏิสังขรณ์ปราสาทเมื่อปี พ.ศ. 1595 และกษัตริย์แห่งอาณาจักรขอมได้เป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนา โดยมีพราหมณ์ปุโรหิตเป็นผู้นำศาสนา คอยให้คำปรึกษาแนะนำ และเป็นสื่อกลางระหว่างเทพเจ้าและกษัตริย์รวมทั้งประวัติ สายสกุลพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีเทวราชา การปฏิบัติพระเทวราชและรูปเคารพ การสร้างหมู่บ้าน การบุญต่าง ๆ ในศาสนา เป็นต้น โดยปัจจุบันจารึกทั้ง 2 ถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากรนั่นเอง เปิดใช้รับชมทุกวันตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 0 3731 2282 , 0 3731 2284